การฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง (ค.ศ. 1874-1931) ของ ประวัติศาสตร์สเปน

พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12

สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 2 ทรงสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์สเปนให้แก่พระราชโอรส คือ เจ้าชายอัลฟอนโซแห่งอัสตูเรียสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1870 และหลังจากเกิดความวุ่นวายไม่สิ้นสุดในสาธารณรัฐสเปนที่ 1 ชาวสเปนส่วนใหญ่ก็ตกลงใจที่ยอมรับการกลับไปสู่ความมีเสถียรภาพของประเทศภายใต้การปกครองของราชวงศ์บูร์บงอีกครั้ง กองกำลังสาธารณรัฐนิยมในสเปนนำโดยพลจัตวามาร์ตีเนซ กัมโปสที่กำลังปราบปรามการก่อการกบฏของพวกการ์ลิสต์อยู่นั้นได้ประกาศสวามิภักดิ์ต่อเจ้าชายอัลฟอนโซในฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1874-1875 ต่อมาสาธารณรัฐสเปนก็สลายตัวไปเมื่อเจ้าชายอัลฟอนโซทรงขึ้นครองราชย์และเฉลิมพระนามพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 แห่งสเปน ส่วนอันโตเนียว กาโนบัส เดล กัสตีโย ที่ปรึกษาในพระองค์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในวันสิ้นปี ค.ศ. 1874 พวกการ์ลิสต์ถูกปราบลงอย่างราบคาบโดยกษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งทรงเข้าไปมีบทบาทในสงครามและทรงได้รับการสนับสนุนจากพสกนิกรส่วนใหญ่ของพระองค์อย่างรวดเร็ว

ระบบหมุนเวียนทางการเมืองหรือ ตูร์โน (turno) ระหว่างพรรคเสรีนิยม (ซึ่งมีปรักเซเดส มาเตโอ ซากัสตาเป็นผู้นำ) กับพรรคอนุรักษนิยม (ซึ่งมีกาโนบัส เดล กัสตีโยเป็นผู้นำ) ได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยผลัดกันมีอำนาจในรัฐบาล นอกจากนี้ ความมั่นคงและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของสเปนก็ได้รับการฟื้นฟูในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 12 นี้เอง แต่การเสด็จสวรรคตของพระองค์เมื่อปี ค.ศ. 1885 ตามด้วยการลอบสังหารกาโนบัส เดล กัสตีโยเมื่อปี ค.ศ. 1897 ทำให้ความมั่นคงของรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในเวลาต่อมาเริ่มสั่นคลอน

ซากเรือรบเมน

ส่วนที่อเมริกา คิวบาได้ก่อความไม่สงบต่อต้านสเปนในสงครามสิบปีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1868 ส่งผลให้เกิดการเลิกทาสในดินแดนอาณานิคมโลกใหม่ของสเปน ผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาที่มีในเกาะแห่งนี้ประกอบกับความพยายามของขบวนการเรียกร้องเอกราชในคิวบาทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้แย่ลง การระเบิดเรือรบเมนที่ฐานทัพเรือฮาวานาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 เป็นชนวนให้เกิดสงครามสเปน-สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสเปนตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ สเปนจึงต้องประสบกับหายนะร้ายแรงอีกครั้งหนึ่ง คิวบาได้รับเอกราชในที่สุด สเปนยอมถอนกำลังทหารออกไปและยังเสียอาณานิคมแห่งอื่นที่เหลืออยู่ในโลกใหม่ คือ เปอร์โตริโก รวมทั้งกวมและฟิลิปปินส์ให้กับสหรัฐอเมริกาด้วย[71] และในปี ค.ศ. 1899 สเปนก็ขายหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ยังอยู่ในความครอบครองของตน (ได้แก่ หมู่เกาะนอร์เทิร์นมาเรียนา หมู่เกาะแคโรไลน์ และปาเลา) ให้กับเยอรมนี ทำให้สเปนมีดินแดนอาณานิคมเหลือเพียงสแปนิชโมร็อกโก สแปนิชสะฮารา และสแปนิชกินี ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแอฟริกา

"หายนะ" ในปี ค.ศ. 1898 ได้ก่อให้เกิดกลุ่ม 98 (Generation of '98; Generación del 98) ซึ่งเป็นกลุ่มของรัฐบุรุษและปัญญาชนที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลชุดใหม่ขึ้น นอกจากนี้ ขบวนการอนาธิปไตยและฟาสซิสต์เริ่มก่อตัวขึ้นในสเปนในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1909 รัฐบาลเรียกเกณฑ์กำลังสำรองอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อส่งไปรบและรักษาดินแดนอาณานิคมในโมร็อกโก ทำให้ชนชั้นแรงงานในเมืองบาร์เซโลนาและเมืองอื่น ๆ ของแคว้นกาตาลุญญาไม่พอใจอย่างมาก จึงนัดหยุดงานประท้วงและก่อการจลาจลโดยได้รับการสนับสนุนจากพวกอนาธิปไตย พวกต่อต้านทหาร และพวกสังคมนิยม นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของรัฐบาลกับชนชั้นแรงงานซึ่งเรียกกันว่า สัปดาห์แห่งโศกนาฏกรรม (Tragic Week; Semana Trágica) ผลคือฝ่ายหลังถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและเสียชีวิตไปมากกว่าร้อยคน

การที่สเปนรักษาความเป็นกลางระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 ไว้ได้และเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบและเสบียงให้กับประเทศคู่สงครามทั้ง 2 ฝ่ายนั้นส่งผลดีอย่างมากกับประเทศ กล่าวคือ เศรษฐกิจเฟื่องฟูขึ้นทันที เกิดการพัฒนาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ทั้งคนรวยและคนจนต่างก็มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่การแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนทั้งในประเทศและที่อื่น ๆ ในโลก รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกก็สร้างความเสียหายให้กับสเปนอีก โดยต้องตกอยู่ในสภาวะเป็นหนี้ การนัดหยุดงานของผู้ใช้แรงงานถูกปราบปรามในปี ค.ศ. 1919

การปฏิบัติต่อชาวมัวร์อย่างไม่เป็นธรรมในดินแดนสแปนิชโมร็อกโกนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนและการเสียดินแดนในแอฟริกาเหนือแห่งนี้ไป (เหลือเพียงเมืองเซวตาและเมลียา) ในปี ค.ศ. 1921 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงตัดสินพระทัยสนับสนุนจอมพลมีเกล ปรีโม เด รีเบราให้ปกครองประเทศในระบอบเผด็จการ เพื่อหลีกเลี่ยงภาระรับผิดชอบต่อการสูญเสียทั้งทหารและงบประมาณจากการพ่ายแพ้สงครามครั้งนั้น อย่างไรก็ตาม การร่วมรบกับฝรั่งเศสเพื่อต่อต้านชนพื้นเมืองในโมร็อกโก (ค.ศ. 1925-1927) ก็ทำให้สเปนได้ดินแดนบางส่วนกลับคืนมาบ้าง

ต่อมาสภาวะล้มละลายในปี ค.ศ. 1930 และการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากประชาชนทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ไม่ทรงมีทางเลือกอื่นนอกจากการบังคับให้นายพลปรีโม เด รีเบราลาออกจากตำแหน่ง พลเอกดามาโซ เบเรงเกร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลชุดใหม่ แต่ประชาชนก็เสื่อมศรัทธากับกษัตริย์ที่ทรงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาลเผด็จการไปแล้ว โดยตำหนิว่าพระองค์ทรงพยายามจะปกครองประเทศตามแบบเบนีโต มุสโสลีนี[72] จึงมีเสียงเรียกร้องให้มีการสถาปนาประเทศเป็นสาธารณรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อมา (ค.ศ. 1931) เบเรงเกร์ประกาศลาออก มีการจัดการเลือกตั้งระดับเทศบาลเมื่อเดือนเมษายน ปีเดียวกัน ซึ่งประชาชนในเขตเมืองพากันลงคะแนนเสียงให้กับกลุ่มสาธารณรัฐนิยม ทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ต้องทรงลี้ภัยออกจากประเทศ และแม้พระองค์จะไม่ได้ทรงประกาศสละราชบัลลังก์อย่างเป็นทางการ แต่สาธารณรัฐสเปนก็ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นครั้งที่ 2

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประวัติศาสตร์สเปน http://www.ucalgary.ca/applied_history/tutor/eurvo... http://www.bartleby.com/65/ch/Charles5HRE.html http://indoeuro.bizland.com/archive/article8.html http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/557573/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/558200/S... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/590747/T... http://www.clarin.com/diario/2003/03/29/um/m-53749... http://www.generalisimofranco.com/GC/batallas/006.... http://www.historynet.com/second-punic-war-battle-...